รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร?
รถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle หรือรถ EV เป็นรถยนต์ที่มีการใช้ระบบพลังงานจากไฟฟ้าเข้ามาเป็นตัวแปรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและการทำงานในระบบต่าง ๆ ของรถยนต์ ซึ่งแตกต่างจากการใช้งานในรถยนต์แบบสันดาปที่ใช้ระบบน้ำมันดีเซลหรือเบนซินเพียงอย่างเดียว โดยรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังแยกย่อยได้อีกหลายประเภทด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ซึ่งแม้จะเรียกว่ารถไฟฟ้าเหมือนกันแต่จริง ๆ แล้วรถไฟฟ้าแบ่งออกเป็นกี่ประเภทกันแน่? แล้วแบบไหนที่เรียกว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในบทความนี้เราจะมาไขข้อสงสัยในเรื่องนี้กัน
สำหรับประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่พบเห็นบนท้องถนนได้บ่อยนั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยมีความแตกต่างกันในชื่อเรียก และรูปแบบการใช้พลังงาน ดังนี้

1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV)
รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid electric vehicle) หรือรถ HEV คือ รถยนต์ที่ผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันทั่วไปกับไฟฟ้า ทำให้ระบบเครื่องยนต์ของรถไฟฟ้าแบบไฮบริดนั้นมีทั้ง มอเตอร์ เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และแบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยการขับเคลื่อนและใช้พลังงานส่วนใหญ่จะมาจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป และไม่ต้องติดตั้ง EV Charger เพื่อชาร์จไฟด้วย
การทำงานของระบบ HEV
การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดจะไม่สามารถชาร์จไฟภายนอกเข้าไปได้ แต่มีระบบ Self-Charging ที่สร้างประจุไฟฟ้าจากพลังงานจลน์ และเมื่อการขับในระดับความเร็วคงที่เครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานร่วมกัน หากเป็นการเร่งความเร็วจะสลับมาใช้พลังงานมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลักทำให้การขับขี่นุ่มนวลมากยิ่งขึ้น
ข้อดีและข้อเสียของรถยนต์ HEV
แม้ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์แบบสันดาปที่คุ้นเคยกับระบบมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ก็มีเรื่องที่ต้องทราบเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียที่ต้องศึกษาก่อนซื้อ ดังนี้
ข้อดี
- ประหยัดพลังงานมากกว่ารถยนต์ทั่วไป และลดการปล่อยมลพิษทางอากาศได้ในระยะยาว
- ราคาเป็นมิตร เพราะมีช่วงราคาที่จับต้องได้เริ่มต้นที่ประมาณ 700,000 – 900,000 บาท
- มีตัวเลือกที่หลากหลายและคุ้นเคย โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ตามท้องตลาดหันมาผลิตรถไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV กันมากขึ้นทำให้เลือกซื้อได้ง่ายและมั่นใจในเรื่องแบรนด์
ข้อเสีย
- ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ เพราะยังต้องใช้การเติมเชื้อเพลิงรูปแบบน้ำมันอยู่เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้
- การบำรุงรักษาทำได้ยากกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป และยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง

2. รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV)
รถยนต์ไฟฟ้า PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากไฮบริด HEV คือ เรื่องของการเพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟเข้ามาด้วย และยังไม่ได้ตัดการทำงานแบบ 2 ระบบออกไป ทำให้การเติมประจุไฟฟ้าเข้ามาเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ช่วยเพิ่มระยะการขับขี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ได้มากกว่า HEV และเมื่อเทียบกันแล้วรถยนต์แบบ PHEV ยังช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าด้วย
การทำงานของระบบ PHEV
สำหรับการทำงานของรถยนต์แบบ PHEV คือ ผู้ใช้รถจะสามารถเลือกได้ว่าต้องการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า (Hybrid Mode) หรือต้องการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (EV Mode) โดยระบบขับเคลื่อนแบบ EV นั้นจะมีการทำงานแบบรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และใช้ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในการชาร์จไฟ รวมถึงใช้บริการจุดติดตั้ง EV Charger ได้ และหากไม่สามารถหาจุดชาร์จได้ก็ยังกลับมาทำงานในระบบไฮบริดได้เช่นกัน
ข้อดีและข้อเสียของรถยนต์ PHEV
รถยนต์ PHEV เป็นอีกรูปแบบของรถไฟฟ้าทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง รองรับกับไลฟ์สไตล์การขับขี่ได้ทั้งในเมืองและเดินทางไกล ซึ่งก็มีข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณา ดังนี้
ข้อดี
- ประหยัดน้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการขับเคลื่อนในระบบไฟฟ้าเป็นหลัก
- สมรรถนะในการขับเคลื่อนมีความเสถียรภาพมากกว่าไฮบริด
- ตอบโจทย์การใช้งานในทุกเส้นทาง ทั้งขับขี่ในเมืองที่ต้องประหยัดเชื้อเพลิง หรือเดินทางไกลที่อาจจะหาจุดติดตั้ง EV Charger ได้ยาก
ข้อเสีย
- ราคาสูง ด้วยระบบการทำงานที่ครอบคลุมจึงมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย
- ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง เพราะมีอุปกรณ์ในการใช้งานถึงสองรูปแบบ ทำให้ค่าซ่อมแซมหรือการดูแลรักษามีค่าใช้จ่ายพอสมควร
- หากเทียบเฉพาะระบบไฟฟ้าจะมีระยะการขับขี่ที่สั้นกว่ารถยนต์ EV เนื่องจากการเก็บประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่มีน้อยกว่ารถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ การใช้งานในระบบนี้จึงสั้นกว่า

3. รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV)
รถยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) คือรถที่ไม่มีการใช้ระบบน้ำมันเลย ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสียในการขับเคลื่อน โดยระบบที่ใช้ขับเคลื่อนมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าและพลังงานของแบตเตอรี่ไฟฟ้า การเติมเชื้อเพลิงของรถไฟฟ้า BEV จึงมาจากเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหรือจุดติดตั้งระบบ EV Charger
การทำงานของระบบ BEV
เนื่องจากเป็นระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ต้องเสียบปลั๊กชาร์จเติมพลังงาน ระบบของ BEV จึงเป็นไปด้วยระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% โดยใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในการจ่ายพลังงาน ซึ่งผู้ขับขี่ต้องชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกสะสมไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นเมื่อใช้งานจะเกิดการดึงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เข้ามาเป็นพลังงานควบคุมมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อน
ข้อดีและข้อเสียของรถยนต์ BEV
เมื่อมีจุดเด่นในเรื่องของระบบไฟฟ้า 100% ทำให้หลายคนให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้า BEV แต่ก่อนตัดสินใจ อย่าลืมพิจารณาจากข้อดีและข้อเสีย ตามรายละเอียดต่อไปนี้
ข้อดี
- ไม่สร้างมลพิษทางอากาศเป็นพลังงานสะอาด
- ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพราะเป็นการชาร์จไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
- สามารถชาร์จพลังงานจาก EV Charger ที่ติดตั้งไว้ที่บ้านได้เลย
ข้อเสีย
- ระยะขับขี่สั้น ถ้าต้องเดินทางไกลต้องวางแผนให้ดีเพราะต้องหาสถานีที่ติดตั้งระบบ EV Charger ระหว่างเส้นทาง
- หลายรุ่นยังคงมีราคาสูง เมื่อเทียบกับการใช้งานที่รองรับการขับขี่ในเมืองมากกว่า
- ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดการแบตเตอรี่ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อมได้

4. รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)
รถยนต์ไฟฟ้าประเภทสุดท้ายคือระบบไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle) ที่ต้องเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก ทำให้ได้ความจุพลังงานที่สูงกว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป แต่ยังคงเป็นรถไฟฟ้าที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมเพราะยังมีตัวเลือกน้อยในปัจจุบัน
การทำงานของระบบ FCEV
ระบบของรถยนต์ไฟฟ้าแบบ FCEV นั้นจะใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เซลล์เชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศทำให้เกิดกระบวนที่แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันการเติมพลังงานไฮโดรเจนยังคงต้องเติมที่สถานีที่ให้บริการเท่านั้น
ข้อดีและข้อเสียของรถยนต์ FCEV
แม้ว่าจะยังเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มาทีหลังและยังใหม่สำหรับบ้านเรา แต่ก็มีข้อดีและข้อเสียที่น่าสนใจเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาบ้างเหมือนกัน ดังนี้
ข้อดี
- ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เพราะสามารถเติมไนโตรเจนในการขับเคลื่อนได้
- ขับเคลื่อนได้ในระยะทางไกลกว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป
- ใช้ระยะเวลาในการเติมพลังงานน้อย
ข้อเสีย
- มีราคาสูง เพราะยังเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและใหม่มาก
- มีตัวเลือกน้อย ปัจจุบันยังมีรถไม่กี่รุ่นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า FCEV
- สถานีสำหรับเติมพลังงานยังมีน้อยมาก

รถยนต์ไฟฟ้า ตัวเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในบทความนี้ทุกคนก็คงจะทราบกันแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งออกเป็นกี่ประเภท และมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แต่ถึงแม้ว่าจะเลือกใช้รถไฟฟ้าแบบใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทมีเหมือนกัน คือ ช่วยประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ขับขี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแบบไหนให้ตอบโจทย์ อย่าลืมพิจารณาจากการใช้งาน ความจำเป็นในการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า และงบประมาณเป็นหลักสำคัญ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายและตรงกับความต้องการได้มากที่สุด