โครงการขายไฟคืนการไฟฟ้า คืออะไร?
สำหรับการขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้า คือ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา” ประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยจะเป็นรูปแบบของการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตามเงื่อนไขของการไฟฟ้าที่จะติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัย ซึ่งกำหนดให้มีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และต้องอยู่ในวัตถุประสงค์การติดตั้งเพื่อใช้และลดค่ากระแสไฟฟ้าเท่านั้น โดยสามารถขายไฟคืนการไฟฟ้าในส่วนที่เหลือตามอัตราและเงื่อนไขที่การไฟฟ้ากำหนดเท่านั้น

คุณสมบัติของผู้ยื่นขอขายไฟฟ้า
สำหรับการเข้าร่วมโครงการขอขายไฟฟ้าคืนนั้น ผู้ที่จะขอยื่นขายไฟให้การไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านที่ต้องการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ผู้ยื่นต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย (ประเภทที่ 1) และขนาดของกำลังผลิตที่จะติดตั้งต้องไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ติดตั้งจะต้องติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า โดยส่วนที่เหลือจะสามารถขายคืนการไฟฟ้าได้ในอัตรารับซื้อ 2.2 บาท/หน่วย ระยะเวลา 10 ปี
- ต้องเป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (ชื่อเดียวกันกับในบิลค่าไฟฟ้า) รวมถึงเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเองก็ต้องเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้าด้วย
- กรณีที่ชื่อของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่ตรงกับชื่อเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ให้แจ้งกับการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อแก้ไขหรือทำการโอนเปลี่ยนเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้ถูกต้องก่อนยื่นขอผลิตไฟฟ้า
ขั้นตอนยื่นขออนุญาตขายไฟให้การไฟฟ้า
เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ยื่นขายไฟฟ้าครบถ้วนแล้ว คราวนี้มาถึงขั้นตอนของการยื่นขออนุญาตกันบ้าง โดยสามารถทำตามขั้นตอนได้ดังนี้
- เตรียมเอกสารและรายละเอียดสำหรับการลงทะเบียน เช่น บิลค่าไฟ แบบไฟฟ้า สำเนาบัตรประชาชน ใบรับรองวิศวกร รายละเอียดของอุปกรณ์ที่ต้องติดตั้ง และภาพถ่ายหลังคาที่เป็นพื้นที่ติดตั้งโซล่าเซลล์
- ลงทะเบียนยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยดูรายละเอียดได้ที่ https://myenergy.mea.or.th หรือ https://ppim.pea.co.th
- รอประกาศการแจ้งผลรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือก (ประมาณ 45 วัน) หากได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามซื้อขายภายใน 30 วัน และต้องชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า จำนวน 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- หลังจากลงสนามเพื่อซื้อขายฟ้าแล้ว การไฟฟ้าจะทดสอบการติดตั้งเพื่อตรวจสอบดูว่ามีผลตรงกับในรายละเอียดที่กำหนดไว้และตรงตามที่ผู้ยื่นแจ้งไว้หรือไม่
- หากผ่านขั้นตอนการทดสอบแล้ว การไฟฟ้าจะเปลี่ยนเครื่องวัดกระแสไฟเป็นระบบดิจิตอลที่สามารถระบุหน่วยไฟฟ้าที่ขายคืนได้ โดยที่ยอดขายไฟจะถูกนำมาหักกับยอดค่าใช้ไฟฟ้า หากยอดขายไฟให้การไฟฟ้าสูงกว่ายอดการใช้ ส่วนต่างก็จะถูกโอนเข้าบัญชีที่แจ้งไว้ในขั้นตอนการทำสัญญา

ข้อจำกัดตามเงื่อนไขในการยื่นขอขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ในการยื่นขอขายไฟโซล่าเซลล์นั้นก็มีเงื่อนไข และข้อจำกัดที่ควรทราบเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยเหมือนกัน ตามรายละเอียดดังนี้
- กรณีที่ใช้ไฟฟ้าในระบบ 1 เฟส (220 V) การยื่นติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ต้องรวมได้ไม่เกิน 5 kWp สำหรับระบบไฟฟ้า 3 เฟส (220/380 V) การยื่นติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ต้องรวมได้ไม่เกิน 10 kWp
- การรับซื้อไฟฟ้านั้นมีการจำกัดจำนวนตามโควต้าของแต่ละพื้นที่
รวมเรื่องสำคัญที่ควรทราบในการขายไฟคืนการไฟฟ้า
จากข้อมูลที่กล่าวมานี้การขายไฟให้กับการไฟฟ้านั้นถือว่ามีรายละเอียด และสิ่งที่ต้องทราบอยู่พอสมควรเลยทีเดียว สำหรับใครที่อยากอ่านแบบรวบรัด สามารถเลือกอ่านเพื่อไม่ให้พลาดประเด็นสำคัญได้ดังนี้
- ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือประเภทบ้านอยู่อาศัยกับการไฟฟ้าเท่านั้น
- ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าต้องมีชื่อตรงกับบิลค่าไฟ รวมถึงสถานที่ติดตั้งต้องเป็นที่อยู่เดียวกันเท่านั้น
- กรณีที่เป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส ต้องผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 5 kWp และกรณีที่เป็นระบบ 3 เฟส กำลังผลิตต้องไม่เกิน 10 kWp
- การติดตั้งโซล่าเซลล์จะเป็นระบบ Solar Rooftop ที่เน้นผลิตไฟฟ้าใช้เอง และการขายคืนให้การไฟฟ้าจะอยู่ที่ราคาหน่วยละ 2.2 บาท โดยมีระยะเวลาขายคืนทั้งหมด 10 ปี
- ค่าใช้จ่ายกรณีที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 2,140 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- การขายไฟโซล่าเซลล์คืน ทางการไฟฟ้าจะมีการหักภาษี ณ. ที่จ่ายจำนวน 1%

สรุปติดโซล่าเซลล์เพื่อขายไฟให้การไฟฟ้า คุ้มไหม?
สำหรับท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการติดโซล่าเซลล์เพื่อขายไฟให้การไฟฟ้าว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไหม อยากให้ลองตัดสินใจไปในระยะยาว เพราะการขายไฟคืนการไฟฟ้านั้นจะได้จำนวนหน่วยละ 2.2 บาท/หน่วย ซึ่งมีระยะเวลาอยู่ที่ 10 ปี โดยการติดตั้งโซล่าเซลล์จะมีส่วนช่วยประหยัดค่าไฟลงได้ประมาณ 30 – 70% อีกทั้งยังได้ส่วนต่างกลับคืนในกรณีที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าจำนวนหน่วยขายไฟฟ้า ทำให้มีโอกาสคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป หรือหากใช้เวลาคืนทุนนานกว่า 5 ปี ก็ไม่เกินจากระยะเวลา 10 ปีแน่นอน ถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่ต้องบอกเลยว่า ได้ความคุ้มค่าทั้งเรื่องประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายเลยทีเดียว