สาเหตุที่ต้องขออนุญาตติดตั้งระบบโซล่าเซลล์
การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์นั้นเป็นการติดตั้งที่บริเวณหลังคาบ้าน ซึ่งเข้าข่ายของการดัดแปลงโครงสร้างเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ภายในที่อยู่อาศัย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ้านจึงต้องมีความแข็งแรงและปลอดภัยมากที่สุด เพื่อให้การใช้งานโซล่าเซลล์นั้นไม่กระทบต่อการอยู่อาศัยของเพื่อนบ้าน ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดไว้ การขออนุญาตกับทางหน่วยงานรัฐไม่เพียงแค่ช่วยให้สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เท่านั้น แต่ยังช่วยเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากระบบโซล่าเซลล์ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงและวิจัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นในอนาคตด้วย

ระบบโซล่าเซลล์แบบไหน ที่ต้องขออนุญาตก่อนติดตั้ง
สำหรับระบบของโซล่าเซลล์ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมีทั้งรูปแบบ ไฮบริด, ออนกริด และแบบออฟกริด ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของคุณสมบัติและการใช้งาน ทำให้การขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์นั้นมีความแตกต่างกันตามประเภทด้วย สำหรับระบบโซล่าเซลล์ที่ต้องขออนุญาตคือแบบ ไฮบริด และออนกริด ที่ต้องขอกับหน่วยงานรัฐทั้งหมด 3 หน่วยงาน คือ ราชการส่วนท้องถิ่น, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง
ส่วนการติดตั้งโซล่าเซลล์ระบบออฟกริดนั้นเป็นรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและใช้แบบเฉพาะส่วน เช่น ไฟส่องสว่างที่บริเวณรั้วบ้าน ใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้เพื่อเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ กรณีนี้สามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์
อ่านเพิ่มเติม : ระบบโซล่าเซลล์ On-Grid กับ Off-Grid ต่างกันอย่างไร? เลือกใช้แบบไหนให้เหมาะสม

4 ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์
สำหรับมือใหม่ที่อยากติดตั้งระบบโซล่าเซลล์แต่ยังไม่รู้ว่ามีขั้นตอนในการขออนุญาตอย่างไร สามารถใช้ 4 ขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐได้ ดังนี้
1. ขออนุญาตดัดแปลงบ้านและอาคาร
ขั้นตอนแรกคือการแจ้งขออนุญาตในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ้านและอาคาร เพื่อใช้สำหรับการติดตั้งโซลล่าเซลล์ โดยจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านความแข็งแรงก่อนการติดตั้งซึ่งจะต้องมีการรับรองจากวิศวกรโยธาที่มีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมายเท่านั้น และการขออนุญาตดัดแปลงต้องยื่นกับทางหน่วยงานราชการท้องถิ่น เช่น สำนักงานเทศบาล อบต. หรือสำนักงานเขต โดยเอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้
- ใบคำร้องกรณีขอติดตั้งโซล่าเซลล์บนพื้นที่ไม่เกิน 160 ตร.ม. และน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ตร.ม.
- แบบ อ.1 (ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร) กรณีที่ต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่เกินกว่า 160 ตรม. และมีน้ำหนักรวมมากกว่า 20 กิโลกรัม/ตร.ม.
- เอกสารแสดงแผนผังโครงสร้างหลังคาและโครงสร้างรองรับแผงโซล่าเซลล์
- เอกสารแสดงรายละเอียดการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์
2. ขอยกเว้นรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า
ขั้นตอนต่อมาคือการยื่นเรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เพื่อขอยกเว้นรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาตามกฎหมายติดตั้งโซล่าเซลล์ดังนี้
- สำหรับระบบโซล่าเซลล์ที่บ้าน ร้านค้า หรืออาคารขนาดเล็ก ที่มีกำลังผลิตไม่ถึง 1,000 kWp ให้แจ้งขอยกเว้นรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า
- สำหรับระบบโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนอาคารขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน หรือผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายเล็กและใหญ่ที่มีกำลังผลิตมากกว่าหรือเท่ากับ 1,000 kWp ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าเท่านั้น
โดยการยื่นขอยกเว้นรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้านั้นสามารถยื่นได้ที่ cleanenergyforlife.net หรือยื่นด้วยตัวเองได้ที่ สำนักงาน กกพ.
3. ขออนุญาตเชื่อมขนานไฟฟ้ากับระบบโครงข่าย
สำหรับขั้นตอนนี้จะเป็นการยื่นเรื่องเพื่อขอติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ของบ้านที่อยู่อาศัย กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านและอาคาร โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาต ดังนี้
- แบบคำขอเชื่อมขนานระบบโครงข่ายไฟฟ้า
- หนังสืออนุญาตยกเว้นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจาก กกพ.
- ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร หรือ แบบ อ.1
- แบบแผนผังโครงสร้างการติดตั้งที่มีการตรวจสอบความแข็งแรง และมีการเซ็นรับรองจากวิศวกรโยธาเรียบร้อยแล้ว
- แบบแผนผังเส้นเดี่ยวระบบไฟฟ้า หรือ Single Line Diagram ที่มีการเซ็นรับทราบจากวิศวกรไฟฟ้าแล้ว
- เอกสารรายละเอียดของแผงโซลล่าเซลล์ และอินเวอร์เตอร์
- รายงาน Mini Cop ที่มีการตรวจสอบการออกแบบติดตั้งตามหลักปฏิบัติ
- สำเนาผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรที่เป็นผู้เซ็นรับรองการตรวจสอบในเอกสาร
- กรณีที่มีการมอบอำนาจ ต้องมีเอกสารมอบอำนาจมาด้วย
ทั้งนี้การยื่นเอกสารขอเชื่อมขนานกับระบบไฟฟ้าโครงข่ายนั้นสามารถยื่นได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง (กฝน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถทำได้ด้วยตัวเองและแบบออนไลน์
4. รอการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า
หลังจบขั้นตอนการขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซล่าเซลล์เรียบร้อยแล้ว ทางการไฟฟ้าจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบระบบโซล่าเซลล์ ทั้งการติดตั้ง การทำงาน และการเชื่อมต่อระบบขนาดไฟฟ้าโครงข่ายว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ หากเป็นไปตามเงื่อนไขทางการไฟฟ้าจะเปลี่ยนจากมิเตอร์ไฟฟ้าเดิมให้เป็นระบบดิจิทัล และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับเข้าระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยขั้นตอนนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย

ติดตั้งโซล่าเซลล์ ทางเลือกประหยัดพลังงานที่คุ้มค่าได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่าจะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ในหลายขั้นตอน แต่เมื่อมองถึงภาพรวมในระยะยาว การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองจากแสงแดด ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าได้อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของค่าไฟที่ถูกลงเท่านั้น แต่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ดังนั้นแล้วการติดต่อขอติดตั้งระบบโซล่าเซลล์เพียงไม่กี่ขั้นตอน น่าจะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป และคุ้มที่ใช้เวลาจัดการให้เสร็จสมบูรณ์ตามที่ข้อกำหนดกฎหมาย
สำหรับท่านเจ้าของบ้านที่กำลังสนใจติดตั้งโซล่าเซลล์ไว้ที่บ้าน หรือสถานประกอบการ แต่ยังไม่รู้ว่าควรเตรียมตัวเตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาตอย่างไรดี สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Nutthaphume Equipment ได้ เราพร้อมดูแลและให้คำแนะนำเพื่อให้ท่านตัดสินใจเลือกระบบโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ภายในระบบให้ตรงกับความต้องการและงบประมาณ รวมถึงแนะนำขั้นตอนการติดตั้ง ตั้งแต่ต้นจนจบงาน